มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์

โดยความอุปถัมภ์ของ บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)

มูลนิธิ

มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ.วีนิไทย

จากวิกฤตการสูญเสียปะการังเป็นจำนวนมากในทะเลอ่าวไทยภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของโลกที่ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของปะการัง เช่น การเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวหรือเป็นการกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การเปิดหน้าดินที่มีผลทำให้มีตะกอนไปทับถมแนวปะการัง การทำประมงที่ผิดวิธี ตลอดจนขาดความระมัดระวัง และจิตสำนึกต่อการใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว ซึ่งมีผลต่อการสูญเสียทรัพยากรแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์สวยงามติดอันดับโลก และส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงของชาติ

แนวคิดด้านการขยายพันธุ์ปะการังจึงได้มีการริเริ่ม และได้มีการทำการทดลองปลูกปะการังด้วยท่อพีวีซีเป็นครั้งแรกของโลก ณ บริเวณ หาดแสมสาร ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปี 2538 โดยการนำของอาจารย์ประสาน แสงไพบูลย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งสถาบันราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี ร่วมกับอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนพลูตาหลวงวิทยา อาสาสมัครผู้รักท้องทะเล โดยการทดลองเพาะเลี้ยงปะการังที่อยู่ในสภาพแตกหักจากธรรมชาติ  ด้วยแปลงเหล็กข้ออ้อยและใช้ท่อพีวีซีเป็นฐานยึดกิ่ง และต่อมาได้มีการดัดแปลงให้เป็นแปลงท่อพีวีซีเพื่อการปลูกและอนุบาลปะการังเขากวางโดยทดลองเพาะเลี้ยงปะการังที่อยู่ในสภาพแตกหักด้วยแปลงท่อพีวีซีเพื่อการปลูกและอนุบาลปะการังเขากวางในปี 2541 โดยการทดลองซึ่งพิสูจน์จากธรรมชาติแล้วว่าพีวีซีมีความปลอดภัย แม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตทางทะเลขนาดเล็กและอ่อนไหวอย่างเช่น ปะการัง ก็ยังสามารถเติบโตเกาะเจริญตัวบนพีวีซีได้ พีวีซีจึงเป็นวัสดุที่สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

จากนั้นจึงได้มีการจัดตั้งเป็นโครงการขยายพันธุ์ปะการังเขากวาง จำนวน 10,000 ต้น โดยมีเป้าหมายที่จะให้มีปริมาณปะการังเพียงพอในการฟื้นฟูท้องทะเลไทยและเพื่อเก็บบางส่วนไว้เป็นต้นพันธุ์สำหรับการขยายพันธุ์ต่อไป

บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)
ผู้ผลิตและจำหน่ายผงพลาสติกพีวีซีและโซดาไฟ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงการฯ ดังกล่าว อีกทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดเป็นนโยบายหลักอันหนึ่งของบริษัทฯ จึงได้ดำริและหารือกับอาจารย์ประสาน แสงไพบูลย์ พร้อมกับทีมงานให้มีการจัดตั้งเป็นมูลนิธิขึ้นเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน  ดังนั้นมูลนิธิจึงได้ก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน 2546 โดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยการอุปถัมภ์ของบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) (มน. วทอ.) (Marine Science Activity and Conservation Foundation (MACF) supported by Vinythai PLC.) โดย บมจ. วีนิไทย เป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณและดำเนินการก่อตั้ง กอปรกับให้ทุนในการศึกษาวิจัยและดำเนินกิจกรรม โดยมีวัตถุสงค์เพื่อดำเนินการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง  ตลอดจนทรัพยากรทางธรรมชาติอื่นๆ   ช่วยเหลือ สนับสนุน  ประสานความร่วมมือและส่งเสริมกิจกรรมการศึกษาวิจัยของนักเรียน นักศึกษา  เยาวชน  ครู  คณาจารย์ บุคคลทั่วไป  ทางด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล

ทั้งนี้ ได้มีการจัดงานแถลงข่าวสื่อมวลชน ในการเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ อีกทั้งได้มีพิธีเปิดงานโครงการ “วีนิไทยกับการขยายพันธุ์ปะการังด้วยท่อพีวีซี” และเปิดตัวมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยการอุปถัมภ์ของบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2547 ณ สโมสรหาดน้ำหนาว ต. แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

3
2
5
6
4