มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์

โดยความอุปถัมภ์ของ บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)

 

บทพิสูจน์ความสำเร็จของการขยายพันธุ์ปะการังด้วยท่อพีวีซี

องค์กรและหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ “วีนิไทย ร่วมใจปลูกปะการัง ๘๐,๐๐๐ กิ่ง ที่เริ่มต้นเพื่อล้นเกล้า”

บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกองทัพเรือมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีองค์การบริหารส่วนตำบลแสมสารเกาะสเม็ด จังหวัดระยองเกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เกาะขาม จังหวัดชลบุรีเกาะหวาย จังหวัดตราด

บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)

มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ. วีนิไทย

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาของประเทศในด้านต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เช่น การทำการประมง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การพัฒนาแหล่งชุมชนและอื่น ๆ ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมาก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงโทรมของทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการใช้ที่ดินชายฝั่งทะเลมากจนเกิดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์และมีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง พื้นที่ป่าชายเลนลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการบุกรุกและเปลี่ยนแปลงสภาพเพื่อประโยชน์ในด้านอื่น ๆ แหล่งปะการัง และหญ้าทะเลก็อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเช่นกัน ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงอย่างมาก ประกอบกับสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำเสื่อมโทรม ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตและการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ

การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอดีตที่ผ่านมา ยังไม่มีเอกภาพ ขาดการบูรณาการและไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงหรือมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ จึงได้มีการปฎิรูประบบราชการและมีพระราชบัญญติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรวมทั้งการจัดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้น โดยรวมงานที่เกี่ยวข้องในด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจากกรมประมง กรมป่าไม้ และกรมพัฒนาที่ดินในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาอยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ท.ส.)  โดยมีภารกิจในการอนุรักษ์ฟื้นฟู บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่ดินชายทะเล ป่าชายเลน แนวปะการัง หญ้าทะเลและสัตว์ทะเลทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลและเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน


ผลงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ยุทธศาสตร์ : การอนุรักษ์และจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างสมดุลและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

  • โครงการปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ
  • โครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนโดยประชาชนมีส่วนร่วม
  • กิจกรรมคุ้มครองเฝ้าระวังป้องกันการทำลายปะการังและดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อ ทรัพยากร เพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก
  • กิจกรรมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอ่าวพังงา
  • ผลงานการศึกษาวิจัยโครงการการศึกษาและฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายฝั่งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมชุมชนชายฝั่งที่ประสบภัยธรณีพิบัติ

ยุทธศาสตร์ : การบริหารจัดการและการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วมและบูรณาการในทุกระดับ

  • โครงการศึกษาและจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในทะเลสาบสงขลา อาทิ ศึกษาชีววิทยาบางประการของปลาท่องเที่ยว เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนจัดการอนุรักษ์ปลาท้องถิ่น สำรวจการแพร่กระจายสาหร่ายในทะเลสาบสงขลา และทะเลน้อย พบว่าบริเวณทะเลสาบตอนนอกและตอนบน  เป็นต้น
  • ความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านการวิจัยจากองค์กรต่าง ๆ ในต่างประเทศ โดยได้รับความร่วมมือด้านการวิจัยด้านทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน อาทิ โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการฟื้นฟูแนวปะการัง EU-Israel-PMBC 2548-2551 ระหว่างประเทศในเอเชียและยุโรป   โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ดำเนินงานศึกษาวิจัย เรื่อง “พลวัตรและการเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศของมหาสมุทรและแนวปะการัง : ปฏิสัมพันธ์ทางชีวะ เคมี และปัจจัยทางสภาวะที่มีผลต่อระบบนิเวศในทะเลอันดามัน” เป็นต้น4

โครงการฟื้นฟูแนวปะการังเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก

โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก

ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้จัดทำโครงการฟื้นฟูแนวปะการังเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้ดำเนินการในบริเวณพื้นที่เกาะมันใน จังหวัดระยอง และเกาะหวาย เกาะเทียน เกาะกระและเกาะรัง จังหวัดตราด โดยได้มีรูปแบบการฟื้นฟูแนวปะการัง เป็นลักษณะแพอนุบาลปะการังมีลักษณะเป็นแผงตาข่ายพลาสติก โดยแพอยู่ลึกจากผิวน้ำ 2-3 เมตร และอยู่เหนือพื้นท้องทะเลประมาณ 3 เมตร  จากนั้นจะนำกิ่งปะการังจากแปลงอนุบาลแพกลางน้ำ ย้ายไปปลูกบนแท่งคานคอนกรีตสำเร็จรูป  ส่วนปะการังก้อนสามารถย้ายลงบนแท่งคานคอนกรีตสำเร็จรูปและบนแท่งคอนกรีตเสริมเหล็กทรงสามเหลี่ยม

เพื่อการวิจัยและพัฒนา ฟื้นฟูแนวปะการังอย่างต่อเนื่อง  เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2551 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือทางวิชาการโครงการ “วีนิไทย ร่วมใจปลูกปะการัง ๘๐,๐๐๐ กิ่ง ที่เริ่มต้น เพื่อล้นเกล้า”  ระหว่าง บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  กองทัพเรือ  มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ.วีนิไทย รวมถึงหมู่เกาะต่าง ๆ ได้แก่  เกาะเสม็ด ช่องแสมสาร เกาะหวาย เกาะขาม และเกาะทะลุ   เพื่อพัฒนาการขยายพันธุ์ปะการังเขากวางด้วยท่อพีวีซี  อันนำไปสู่การฟื้นฟูท้องทะเลไทย ให้อุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นบ้านพักอันปลอดภัยให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลไทยต่อไป

กองทัพเรือ

บทบาทของกองทัพเรือในด้านงานอนุรักษ์  ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2534 ตามมติ ครม.เมื่อ 4 มิถุนายน 2534  ซึ่งระบุให้ กองทัพเรือ กรมประมงและกรมป่าไม้  ดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วน  ในการป้องกันผู้บุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน การป้องกันการทำลายปะการัง  และการดำเนินการปลุกจิตสำนึก  ซึ่งกองทัพเรือได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว  กองทัพเรือ จึงได้จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง กองทัพเรือขึ้น

โครงการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง กองทัพเรือ  ซึ่งแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 งานคือ

  1. งานอนุรักษ์สภาพแวดล้อมในทะเล ดำเนินงานในพื้นที่บริเวณอ่าวไทยตอนบน อ่าวไทยตอนล่าง  พื้นที่สัตหีบและบริเวณใกล้เคียง  และบริเวณทะเลอันดามัน  โดยมีกิจกรรมหลัก ได้แก่  การวางและซ่อมแซมทุ่นหมายเขตแนวปะการัง  และทุ่นจอดเรือ  เพื่อป้องกันการทำลายปะการังและทรัพยากรใต้ทะเล  การอบรมนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์  และการฟื้นฟูปะการังที่เกาะขาม  โดยมี กองเรือป้องกันฝั่ง, ศรชล.เขต1-3 , ทัพเรือภาคที่ 1,ทัพเรือภาคที่ 2, ทัพเรือภาคที่ 3  หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และ หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ เป็นหน่วยปฏิบัติ
  2. งานอนุรักษ์สภาพแวดล้อมชายฝั่ง ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชายฝั่ง โดยมี ทัพเรือภาคที่ 2, ทัพเรือภาคที่ 3, หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน, หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง, ฐานทัพเรือกรุงเทพ, ฐานทัพเรือสัตหีบ และ กปช.จต.  เป็นหน่วยปฏิบัติ  มีกิจกรรมหลัก  ได้แก่  ดำเนินการปลูกป่าบกและป่าชายเลน  การเก็บขยะตามชายหาดในวันหยุดและวันสำคัญของชาติ และกองทัพเรือ
  3. งานอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเล  โดยมี ทัพเรือภาคที่ 3, หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และ กรมอุทกศาสตร์ เป็นหน่วยรับผิดชอบ  มีกิจกรรมหลักได้แก่  การเพาะเลี้ยงเต่าทะเล  ได้แก่  เต่าตนุ และเต่ากระ ที่   หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และ ฐานทัพเรือพังงา  และการเพาะเลี้ยงหอยนมสาวที่สถานีสมุทรศาสตร์สัตหีบ  กรมอุทกศาสตร์ เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

โครงการขยายพันธุ์ปะการัง ณ บริเวณหาดสอ สพ.กองทัพเรือ

ตามที่ชมรมดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ สพ.กองทัพเรือ  ได้ดำเนินการจัดทำโครงการขยายพันธุ์ปะการัง ณ บริเวณหาดสอ  โดยวิธีการปลูกปะการังแบบตอกหมุด  และแบบตะแกรงเหล็กท่อพีวีซีในการยึดกิ่งปะการัง โดยมี

วัตุประสงค์ คือ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล และร่วมกัน ฟื้นฟูแนวปะการัง เพื่อสร้างความสมดุลของระบบนิเวศน์ที่ช่องเกาะคราม  ประชาสัมพันธ์ให้หาดสอเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเพื่อปะกาศเป็นเขตอนุรักษ์  ป้องกันแนวปะการังถูกทำลายจากการทำประมงน้ำตื้น และเป็นเขตขยายพันธุ์สัตว์น้ำ

จนปัจจุบันได้ดำเนินการแล้ว 5 โครงการคือ

  1. โครงการปลูกปะการัง และวางทุ่นแสดงแนวเขตปะการัง เมื่อ 15 มีนาคม 2546
  2. โครงการปลูกปะการังระดับ เมื่อ 14 มิถุนายน 2546
  3. โครงการขยายพันธุ์ปะการังเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อ 10 สิงหาคม 2546
  4. โครงการขยายพันธุ์ปะการังเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อ 4 เมษายน 2547 , 12 สิงหาคม 2547
  5. โครงการปลูกปะการังเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อ 9 สิงหาคม 2547

ผลสรุปการขยายพันธุ์ปะการังรวมทุกโครงการ

จำนวนปะการังที่ขยายพันธุ์ไปแล้ว            1113        ต้น

จำนวนปะการังที่รอด                                  696         ต้น

จำนวนปะการังที่ตาย                                  417         ต้น

คิดเป็นอัตรารอด   62.53 %

บทบาทด้านงานอนุรักษ์ปะการังของหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ

หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการได้สนับสนุนโครงการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งของกองทัพเรือ ตามที่ กองทัพเรือ มอบหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และ การป้องกันแนว      ปะการังไม่ให้ถูกทำลายและเสื่อมโทรม ได้ดำเนินกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมการฝึกอบรมนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์-ใต้ทะเล และกิจกรรมการเคลื่อนย้ายปะการัง โดยกองทัพเรือเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณหลัก

  1. กิจกรรมการฝึกอบรมนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ฯ ได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2538 เป็นกิจกรรมการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ปะการัง โดย นสร.กร.เป็นหน่วยฝึกอบรมกำลังพลที่ได้รับการคัดเลือกจากบุคคลพลเรือน นักศึกษาและบางส่วนจากกองทัพเรือ จำนวน 60 คนต่อรุ่น ปัจจุบันได้ฝึกอบรมแล้วจำนวน 13 รุ่น นักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ฯ จะสนับสนุนงานของโครงการอุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ ๓๖ ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในการวางทุ่นผูกเรือเพื่อป้องกันแนวปะการังในฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณอุทยานแห่งชาติ           หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะตะรุเตา รวมทั้งการเคลื่อนย้ายปะการัง การปล่อยปลาการ์ตูน การเก็บขยะใต้น้ำ ตามแนวปะการังและชายฝั่งตามสถานที่ต่างๆ ในวาระโอกาสที่สำคัญ
  2. กิจกรรมการเคลื่อนย้ายปะการัง สืบเนื่องจากการสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณแหลมปู่เจ้า ท่าเรือแหลมเทียน อ่าวสัตหีบ ทำให้เกิดฝุ่นตะกอนในน้ำมีปริมาณที่มาก จนเกิดผลกระทบต่อแนวปะการังบริเวณ
    ทิศตะวันออกของเกาะตอหม้อ ในปี 2539  นสร.กร. จึงได้เริ่มดำเนินการศึกษาทดลองและดำเนินเคลื่อนย้ายปะการังดังกล่าว ไปยังเกาะขาม บริเวณทางด้านทิศเหนือของเกาะและเกาะปลาหมึกบางส่วน ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีสภาพแวดล้อมและชีวภาพใกล้เคียงกับเกาะตอหม้อ โดยใช้วิธีการติดแท่งปะการังลงบนแท่งคอนกรีตและใช้ ไฮดรอลิกซีเมนต์ในการติดเชื่อม ได้เคลื่อนย้ายปะการังชนิดเขากวางและปะการังโขดจำนวน 500 ก้อน      ซึ่งเป็นการร่วมงานระหว่าง นสร.กร. นักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ฯ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา  นอกจากนั้นยังได้ติดตามและประเมินผลการเจริญเติบโตของปะการังดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่าปีละ 1 เซนติเมตร ปัจจุบันปะการังดังกล่าวขยายขนาดจนปกคลุมแท่งคอนกรีตเกือบทุกก้อน

ปัจจุบันสภาพตะกอนในอ่าวสัตหีบได้หมดไป จึงไม่มีความจำเป็นที่จะดำเนินการเคลื่อนย้ายปะการังดังกล่าว หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ  กองเรือยุทธการ จึงได้ร่วมกับ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล  คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการเพาะขยายพันธุ์ปะการังด้วยวิธีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการเพาะขยายพันธุ์ปะการังด้วยวิธีสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ     และฟื้นฟูแนวปะการังธรรมชาติ ดำเนินการศึกษาปะการังในกลุ่มเขากวาง Acropora spp.  ซึ่งเป็นปะการังที่มีการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาผสมในมวลน้ำและมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศปีละครั้ง และปะการังดอกกระหล่ำ  Pocillopora damicornis  ที่มีการผสมภายในโคโลนีแม่  และปล่อยตัวอ่อนระยะว่ายน้ำออกมาสู่มวลน้ำ  ซึ่งสามารถปล่อยตัวอ่อนได้ตลอดปี ทำการเก็บเซลล์สืบพันธุ์ปะการังดังกล่าวจาก 3 พื้นที่ในอ่าวสัตหีบ ได้แก่  เกาะเตาหม้อ  เกาะปลาหมึก  และเขาหมาจอ โดยการวางทุ่นดักตัวอ่อนปะการังทั้งไข่และสเปริ์ม จากนั้นจะทำการอนุบาลในถังเลี้ยง บริเวณโรงเพาะเลี้ยงบนเกาะแสมสาร โดยให้ตัวอ่อนของปะการังเกาะตัวบนก้อนหินหรือแผ่นกระเบื้อง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลด้านวิชาการ จากการศึกษาพบว่า อัตราการปฏิสนธิของปะการังทุกชนิดมีค่าระหว่างร้อยละ 90.7 – 95.9 ในขณะที่อัตราการปฏิสนธิภายในโคโลนีเดียวกันมีค่าระหว่างร้อยละ 1.7 – 3.3  อัตราการเปลี่ยนเป็นตัวอ่อนระยะว่ายน้ำมีค่าระหว่างร้อยละ 87.2 – 89.0 หลังจากนั้น ตัวอ่อนจึงลงเกาะบนพื้นผิวที่อายุ  4 วันหลังจากการปฏิสนธิ โดยมีอัตราการลงเกาะร้อยละ 50.0 – 75.0 เมื่อทำการเพาะเลี้ยงจนมีขนาดที่เหมาะสมก็จะนำไปวางในทะเลต่อไป

การเพาะขยายพันธุ์ปะการังด้วยวิธีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ นอกจากจะเป็นวิธีการขยายพันธุ์ปะการังอีกทางเลือกหนึ่งที่อยู่ในระหว่างการศึกษาค้นคว้าที่ใกล้จะพบความสำเร็จในการขยายปริมาณปะการังในทะเลแล้ว ยังเป็นแหล่งให้นักศึกษาและเยาวชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้วิธีการดังกล่าว  ซึ่งเป็นการสร้างจิตสำนึกในการที่จะอนุรักษ์ปะการังโดยตรง และทำให้บุคคลทั่วไปได้เห็นถึงความยากลำบากและความพยายามของนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ทุกส่วน ในการที่จะร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลต่อไป

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทุบรี

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เป็นสถาบันอุดมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่เลขที่ 41 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมีเนื้อที่รวม 720 ไร่

3 งาน (เดิมเป็นวังสวนบ้านแก้ว เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งพระราชทานให้กระทรวงศึกษาธิการ)   และมีเนื้อที่สถานีทดลองการเกษตรแก่งหางแมว กิ่งอำเภอแก่งหางแมว ประมาณ 370 ไร่

เดิมใช้ชื่อ  “วิทยาลัยครูจันทบุรี”  จัดตั้งเมื่อวันที่15 มิถุนายน 2515  ได้รับพระราชทานตราศักดิเดชน์ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นตราประจำวิทยาลัย     ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เป็นนามของวิทยาลัย จึงเปลี่ยนชื่อเป็น  “วิทยาลัยรำไพพรรณี”     ในปี พ.ศ. 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชทานนามให้เป็น  “สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี”  และได้เปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี” ตามประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีเป็นอุทยานการเรียนรู้ (Learning park) ที่ทันสมัยแห่งอนุภาคภาคตะวันออก ที่มุ่งเน้นการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิปัญญาสากล เพื่อสร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืนดังปรัชญาของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี   “เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” 


โครงการวิทยาศาตร์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

โครงการค่ายเยาวชนอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ค่ายเยาวชนรักษ์ทะเลรักษ์ถิ่น)

                ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ที่มักจะพบเห็นได้เด่นชัด คือ ความเสื่อมโทรมชายฝั่งและแนวปะการัง   ปริมาณสัตว์น้ำน้อยลง   การทิ้งสิ่งปฏิกูลลงทะเล เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่  เนื่องจากขาดความรู้ ความผูกพัน  การขาดจิตสำนึกที่ดีและความภาคภูมิใจในทรัพยากรที่ตนเองเป็นเจ้าของ ด้วยเหตุผลเหล่านี้  จึงเป็นที่มาของโครงการค่ายเยาวชนอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม(ค่ายเยาวชนรักษ์ทะเลรักถิ่น) ที่ทางชมรมคนรักษ์สิ่งแวดล้อม   คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาลัยราชภัฎรำไพพรรณี ได้จัดขึ้น เพื่อให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเกิดความรู้   มีความผูกพัน รักและหวงแหนในทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่  และกลายเป็นผู้นำในการสร้างเครือข่ายสิ่งแวดล้อม  ที่จะนำไปสู่การจัดกิจกรรมดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในอนาคต


โครงการค่ายวิทยาศาสตร์เยาวชน

ค่ายวิทยาศาสตร์เยาวชน  เป็นกิจกรรมที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี  ได้จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเน้นการฝึกอบรมให้เกิดกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  และเจตคติทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ  รู้จักวิธีการเรียนรู้  โดยฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นการทดลองปฏิบัติจริง (Laboratory  Approaches)  เป็นการปลูกฝังและวางพื้นฐานการเรียนวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน  เพื่อสร้างผู้นำทางความคิดที่มีเหตุผล  รู้จักวางแผนแก้ปัญหา  สามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข  ปลูกฝังให้เยาวชนเกิดจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการปลูกปะการังด้วยท่อพีวีซี  โดยมีวิทยากรจากจากมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์  โดยความอุปถัมภ์ของ  บริษัท  วีนิไทย  จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้ความรู้


โครงการเสริมสร้างนักเรียนสู่สังคมนักวิทยาศาสตร์

ในภูมิภาคตะวันออกของประเทศไทย  มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่มีแนวโน้มที่กำลังประสบปัญหาในด้านการใช้ทรัพยากร มีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมพืชผลมีราคาตกต่ำ  ขาดเทคโนโลยีในการพัฒนาและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ได้กำหนดยุทธศาสตร์ให้มีการเร่งรัดที่จะปฏิรูปการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์  เพื่อสร้างเยาวชนให้เป็นคนเก่ง  คนดี  และเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างมีความสุข  จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อส่งเสริมนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  ที่มีเจตคติทางวิทยาศาสตร์มีความกระตือรือล้นมีความเพียรพยายาม  มีเหตุผล  มีความซื่อสัตย์  มีความละเอียดรอบคอบ  ใจกว้าง  เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์  มาเข้าร่วมทำกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาให้มีความพร้อมที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีมีศักยภาพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป


โครงการพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการฟื้นฟูแนวปะการัง

จากวิกฤตความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย เกิดจากการเรียนการสอนที่ผ่านมาส่วนใหญ่เน้นที่การจดจำเนื้อหามากกว่าการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  มิได้สนองความอยากรู้อยากเห็นในโลกของการสัมผัสการทดลอง  ดังนั้นการใช้ห้องเรียนธรรมชาติมาเป็นแนวทางในการจัดความรู้  ได้ลงมือปฏิบัติจริง  รู้จักใช้เครื่องมือแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  ผู้เรียนมีการพัฒนาเต็มศักยภาพ  สอดคล้องกับความสนใจ  ความถนัดของผู้เรียน  มีความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์  ได้พัฒนากระบวนความคิดขั้นสูง  มีเจตคติทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงบทบาทของนักวิทยาศาสตร์  ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ที่สอดคล้องกับปัญหาในท้องถิ่นได้  โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเสื่อมโทรมของชายฝั่งและแนวปะการัง

จากโครงการพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการฟื้นฟูแนวปะการัง

มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพรรณีจึงได้เข้าไปศึกษาหาข้อมูลถึงการแก้ไขปัญหาในการเสื่อมโทรมทรัพยากรทางชายฝั่ง  และได้จัดโครงการ “ค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์”  ขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่   ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี

มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ. วีนิไทยเล็งเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์และเป็นผลดีต่อชุมชน  จึงได้เข้ามาสนับสนุนโครงการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับ

ปี พ.ศ. 2546  เป็นต้นมา  ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพรรณีและมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ.วีนิไทย ได้ร่วมวิจัยและพัฒนาการปลูกปะการังเขากวางด้วยท่อพีวีซี เพื่อฟื้นฟูและคืนความสมบูรณ์ของปะการังให้แก่ท้องทะเลไทย

องค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

องค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร  ได้จัดตั้งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  เมื่อวันที่ 19มกราคม พ.ศ. 2539    โดยเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง ที่ทำการเลขที่ 127/4 หมู่ 2 ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 5,992 มีจำนวนครัวเรือน 1,651 ครัวเรือนแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่1 บ้านช่องแสมสาร    หมู่ 2 บ้านหนองน้ำเค็ม หมู่ 3 บ้านเขาหัวแหลม

หมู่  4 บ้านหนองกระจง ประชาชนส่วนใหญ่ในตำบลแสมสารมีอาชีพทำการประมง รับจ้าง และค้าขาย

วิสัยทัศน์การพัฒนาท้องถิ่น

“เมืองน่าอยู่   คู่คุณภาพชีวิตดี ลือเรื่องวัฒนธรรมและประเพณี สิ่งแวดล้อมดี มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม”

โดยมีโครงการที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ดังต่อไปนี้

โครงการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ทางองค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร  จึงได้จัดทำ  “โครงการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล”    เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้อยู่คู่กับชุมชนตลอดไป

 โครงการป้องกันมลพิษจากการแกะล้างวัตถุดิบสัตว์น้ำ

องค์การบริหารส่วนตำบลแสมสารและกรมควบคุมมลพิษได้จัดโครงการนี้  เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจากมลพิษจากการแกะล้างวัตถุดิบสัตว์น้ำ แล้วปล่อยน้ำเสียทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม  โดยไม่มีการบำบัดน้ำเสียเบื้องต้น    น้ำเสียเกิดการตกค้างทำให้เกิดมลพิษทางกลิ่น  ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีส่งผลการสุขภาพอนามัยประชาชน

โครงการ “รักษ์ทะเลแสมสาร ครั้งที่ 1”

เป็นโครงการระยะยาวและทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ โดยประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมที่จะดูแลและปกปักรักษาสภาพแวดล้อมคืนความสมบูรณ์ให้ธรรมชาติ

โครงการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

การจัดทำโครงการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล    เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป  และเพื่อสร้างทัศนียภาพใต้ท้องทะเลให้สวยงาม

โครงการฝึกอบรมอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล

เพื่อส่งเสริม  สร้างความรู้  และสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนให้เยาวชนใส่ใจในการอนุรักษ์รักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล  องค์การบริหารส่วนตำบลแสมสารจึงได้จัดทำโครงการ  ดังกล่าวขึ้นโดยประสานความร่วมมือกับกองเรือป้องกันฝั่ง

 โครงการวีนิไทยร่วมใจปลูกปะการัง 80,000 กิ่งที่เริ่มต้นเพื่อล้นเกล้า

องค์การบริหารส่วนตำบลแสมสารได้ลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ.วีนิไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2551 เพื่อร่วมขยายพันธุ์ปะการังเขากวางโดยใช้ท่อพีวีซีในบริเวณช่องแสมสาร

เกาะสเม็ด จังหวัดระยอง

โครงการปลูกปะการังที่เกาะเสม็ด จากคอลัมน์เล็กๆสู่แนวทางอันยิ่งใหญ่

คอลัมน์การปลูกปะการังเขากวางของอาจารย์ประสาน  แสงไพบูลย์  ประธานมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์  โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ.วีนิไทย  ข้อความเล็กๆในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์  กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการพยายามที่จะฟื้นฟูและอนุรักษ์ปะการังในพื้นที่เกาะเสม็ด  เมื่อนายนพดล  ชลสวัสดิ์ได้อ่านพบและเล็งเห็นหนทางที่จะสามารถฟื้นฟูแหล่งปะการังที่เสื่อมโทรมของเกาะเสม็ดได้  จึงได้เกิดแรงจูงใจที่จะไปศึกษาดูงาน ที่มูลนิธิฯ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก อบจ.ระยอง

นายนพดล ประธานกลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะเสม็ด และประชาชนในพื้นที่เกาะเสม็ดราว 60 คนซึ่งประกอบไปด้วย เด็กนักเรียน ผู้ประกอบการบนเกาะ   ชาวบ้าน จึงได้เดินทางไปศึกษาการขยายและฟื้นฟูปะการังเขากวางที่มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุกรักษ์ โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ.วีนิไทย ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

จากนั้นอีกประมาณ 3 เดือน   นายนพดลและชาวบ้านจึงได้ร่วมมือกันทดลองปลูกปะการังขึ้นที่อ่าวลุงดำ   เริ่มจากการปลูกบนแปลงท่อพีวีซี ขนาด 14 ต้นต่อ 1 แปลง ในครั้งนั้นได้ปลูกถึง 50 แปลงหรือราว 700 ต้น

ระยะเวลาผ่านไป  ปะการังก็เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ  นายนพดลและกลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะเสม็ดจึงได้ร่วมกันขยายพันธุ์ปะการังเขากวางตามพื้นที่ต่างๆ คือ พื้นที่หาดทรายแก้ว  อ่าววงเดือน  อ่าวลูกโยน  อ่าวพร้าว รวมทั้งพื้นที่อ่าวลุงดำ  ที่เป็นพื้นที่ริเริ่มในการปลูกปะการังด้วย  โดยการขยายพันธุ์ปะการังเขากวาง  ก็ใช้กิ่งปะการังบางส่วนที่ปลูกไว้ตั้งแต่แรก  มาเป็นกิ่งพันธุ์ใช้ในการปลูกครั้งต่อไป   และส่วนที่เหลือก็จะนำไปวางตามแนวปะการังเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในท้องต่อไป

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีพ.ศ. 2549 ทางมูลนิธิกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ.วีนิไทย ได้เข้าไปดูความคืบหน้าของโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ปะการังบนพื้นที่เกาะเสม็ดและได้มอบแปลงพีวีซีที่ใช้ในการขยายพันธุ์ปะการังให้กับกลุ่มอนุรักษ์ฯด้วย

ถึงแม้การดำเนินงานการขยายพันธุ์และอนุรักษ์ปะการังของกลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะเสม็ดจะมีปัญหาที่ทำให้ท้อแท้อยู่บ้าง  ทั้งพายุ  การกระทำของน้ำมือมนุษย์ที่ทำให้ปะการังมักถูกทำลาย  แต่ทางกลุ่มอนุรักษ์ปะการังฯก็ไม่ท้อถอย  แต่กลับเป็นจุดที่ทำให้ทุกคนรักและหวงแหนปะการังมากยิ่งขึ้น

จากต้นปะการังจำนวน 700 ต้น กลายมาเป็น 1500 ต้นในปัจุบัน และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นหลายๆต้นในปีต่อๆไป

เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ปีพ.ศ. 2540 ได้มีคณะสำรวจจากกองทัพเรือภาค 1 มาสำรวจพื้นที่ ก่อนการเสด็จส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2540 หัวหน้าชุดสำรวจได้ขึ้นมาประชุมปรึกษาแนวทางการรับเสด็จ และได้บอกว่าปะการังที่นี่สมบูรณ์และสวยงามมาก ต่อมาปี พ.ศ. 2540-2543 จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะฟื้นฟูแนวปะการังซึ่งเคยถูกทำลายจากการระเบิดปลาในอดีต

หลายปีที่ผ่านมาเมื่อใดที่พบกิ่งปะการังหักล้มอยู่  ก็จะจับมาเสียบตั้งไว้บนปะการังโขดหลังจากผ่านไป  1-2 ปี  สังเกตเห็นปะการังโตเป็นพุ่ม  จึงทดลองนำเศษเหล็กที่เหลือจากการก่อสร้าง (ซึ่งในขณะนั้นได้มีการก่อสร้างที่พักบริเวณชายฝั่ง) มาเชื่อมเป็นฐานสำหรับเสียบตั้งปะการังที่หักพัง  โดยนำไปวางในระดับน้ำที่เหมาะสม เห็นว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดี  โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งด้านหน้าอ่าวมุก  บางกิ่งสามารถโตได้ถึงปีละกว่า  10  เซนติเมตร บางครั้งเมื่อพายเรือไปทางท้ายเกาะพบปะการังที่หักจากกระแสคลื่นลม  เพราะบริเวณนี้เป็นแนวดอนทรายที่น้ำตื้นยาวกว่า 1 กิโลเมตร ก็เก็บเอาใส่เรือกลับมาวางในระดับน้ำที่ลึกกว่าแนวปะการังที่ตาย  เพราะคิดว่าบางจุดอาจจะตื้นเกินไปจนถูกเหยียบจากนักท่องเที่ยวที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์  หรือบริเวณนั้นน้ำตื้นมากเมื่อน้ำลง ปะการังก็โผล่และตายในที่สุด  จึงนำไปวางในระดับน้ำลึกที่น้ำลงแล้วลึกประมาณ 1-2 เมตร พบว่าปะการังแปลงล้างขวด เขากวางเล็ก เขากวางใหญ่ สามารถเจริญเติบโตและมีอัตรารอดดีและแตกเป็นแขนงสมบูรณ์

ในขณะนั้นก็เริ่มมีโรงเรียนและหน่วยงานการศึกษาต่างๆ สนใจเข้ามาใช้พื้นที่สำหรับเป็นค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเล ต่อมาหลังจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ทำให้ปะการังในหลายพื้นที่มีการฟอกขาวและหักพังไปบ้าง  ทางเกาะทะลุจึงมีความคิดที่จะพยายามรักษาปะการังที่เหลือไว้  โดยย้ายปะการังบางส่วนที่ยังไม่ตายลงไปในระดับน้ำลึกกว่า  ปรากฏว่าปะการังนั้นไม่ตายและยืนต้นเติบโตต่อไปได้

พ.ศ. 2545 อ.ประสาน แสงไพบูลย์ ประธานมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ.วีนิไทย ได้มาร่วมเป็นวิทยากรพิเศษ  บรรยายให้กับหน่วยงานการศึกษาต่างๆที่เข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่ จนประมาณกลางปี พ.ศ.2550  ทางอาจารย์ในนามมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ. วีนิไทยได้ทำโครงการปลูกปะการัง 10,000 กิ่ง และทางเกาะทะลุก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว และได้มีเจ้าหน้ามูลนิธิฯมาเก็บข้อมูลเป็นระยะๆ เห็นว่าปะการังที่ช่วยกันฟื้นฟูนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างความสมบูรณ์อย่างมาก โดยลงแปลงอนุบาลปะการังไว้บริเวณหน้าอ่าวใหญ่อีกประมาณ 60 แปลงๆละ 14 กิ่ง   และจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกในอนาคต

แรงบันดาลใจ  ความมุ่งมั่น  และสำนึกที่จะฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของชาวเกาะทะลุ สร้างความสำเร็จในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลบริเวณแนวปะการังแหล่งพันธุกรรมสัตว์น้ำ ทำให้เกาะทะลุแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นตลอดไป

เกาะขาม จังหวัดชลบุรี

เกาะขามเป็นเกาะเล็ก ๆ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอสัตหีบ  ห่างออกไปจากฝั่ง ประมาณ

9 กม. ใช้เวลาเดินทางด้วยเรือประมาณ 45 นาทีและอยู่ทิศตะวันตกของเกาะแสมสาร  ห่างจากท่าเรือแสมสาร 3 กม.ใช้เวลาเดินทางด้วยเรือประมาณ 15 นาที เกาะขามมีรูปร่างคล้ายตัว H

มีพื้นที่ประมาณ 61 ไร่ อยู่ภายใต้การดูแลของกองเรือป้องกันฝั่ง   ชายหาดของเกาะขามมีสองหาดใหญ่ๆ คือหาดด้านทิศเหนือและทิศใต้ ชายหาดด้านทิศเหนือเป็นทรายค่อนข้างละเอียด เหมาะสำหรับการว่ายน้ำและสันทนาการทางน้ำ  ด้านทิศใต้เป็นหาดทรายหยาบมีหินกรวดและซากปะการังทับถมเต็มชายหาด
ลึกลงไปใต้ทะเลของเกาะขามจะพบแนวปะการังอันอุดมสมบูรณ์กระจายตัวอยู่รอบๆเกาะ บริเวณที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ของปะการังอยู่ทางทิศใต้   ซึ่งแนวปะการังในบริเวณนี้จะเป็นปะการังเขากวาง ปะการังโต๊ะและปะการังสมอง  ในระดับความลึกของน้ำประมาณ 3-6 เมตร จึงเหมาะสำหรับการดำน้ำท่องเที่ยว ทั้งแบบผิวน้ำและแบบน้ำลึก นอกจากนี้แล้ว ยังพบปลาทะเลที่สวยงาม ได้แก่ ปลาผีเสื้อ ปลาสลิดหิน ปลาอมไข่ ปลากะรัง และปลารวมฝูง เช่น ปลาหางเหลือง นอกจากนี้ยังพบสัตว์ทะเลอื่น ๆ ได้แก่ หอยมือเสือ หอยมือแมว ดอกไม้ทะเล ปลาอินเดียแดง กุ้งและปูชนิดต่าง ๆ ดาวขนนก เม่นทะเล และปลิงทะเลที่มีความสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัวของเกาะขาม
จุดเด่นของอุทยานใต้ทะเลเกาะขาม นอกจากอุดมไปด้วยแนวปะการังน้ำตื้นแล้ว ยังเป็นสถานที่แห่งแรกของ ประเทศไทยที่ได้มีการเคลื่อนย้ายปะการังที่กำลังจะเสื่อมโทรมจากบริเวณเกาะเตาหม้อมาลงไว้ที่เกาะขาม เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างแนวปะการังในบริเวณที่เสื่อมโทรมและตายไปให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการเคลื่อนย้ายปะการังนี้ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา  ซึ่งการเคลื่อนย้ายปะการังนี้ ได้ดำเนินการโดยกำลังพลกองทัพเรือและนักดำน้ำอาสาสมัคร ทั้งนี้โดยได้รับความร่วมมือจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยบูรพา

จากการติดตามประเมินผล ปรากฎว่าปะการังส่วนใหญ่ยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้และเจริญเติบโต เพื่อสร้างแนวปะการังที่เสื่อมโทรมให้ฟื้นคืนสู่สภาพที่สมบูรณ์เหมือนเดิม

ต่อมากองเรือป้องกันฝั่ง ได้ร่วมกับมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ.วีนิไทย ดำเนินกิจกรรมขยายพันธุ์ปะการังเขากวางด้วยท่อพีวีซีในอุทยานใต้ทะเลเกาะขาม โดยตลอดเวลาที่ผ่านมามีนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป สนใจขอเข้าเยี่ยมชมอุทยานใต้ทะเลเกาะขามและทำกิจกรรมปลูกปะการังโดยใช้ท่อพีวีซีอย่างต่อเนื่อง

เกาะหวาย จังหวัดตราด

ภายในระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมาพบว่าปะการังที่เกาะหวาย จังหวัดตราด ได้ถูกทำลายเสียหายอย่างมาก สาเหตุเกิดขึ้นมาจากธรรมชาติ เช่น พายุลินดา เมื่อปี 2540 ปรากฏการณ์เอลนิลโย ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเมื่อปี 2541 และจากน้ำมือของมนุษย์

ตั้งต้นปี 2548 เกาะหวาย จังหวัดตราด ร่วมกับ อ.ประสาน แสงไพบูลย์ ประธานมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์  โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ.วีนิไทย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการเพาะเลี้ยงอนุบาลปะการังโดยการใช้ท่อพีวีซี ได้นำแปลงทดลองปะการังเขากวาง 50 แปลงมาทดลองอนุบาลในพื้นที่เกาะหวาย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการธนาคารปะการังที่ มีวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูแนวปะการังและแบ่งปันวิธีการขยายพันธุ์ปะการังเขากวางให้กับพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย เวลาต่อจึงมีความร่วมมือในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง กรมเจ้าท่า ส่วนบริหารจ.ตราด อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)

ในเดือน มกราคม 2549 มูลนิธิวัฒนธรรมและการศึกษานานาชาติ (ICEF) ได้ให้การสนับสนุนทุนในดำเนินโครงการทดลองฟื้นฟูปะการังบริเวณพื้นที่ชายฝั่งของเกาะหวาย แก่นักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏรำไพพรรณี ร่วมกับทีมนักวิจัยจากมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ.วีนิไทย

ปัจจุบัน ปะการังที่เกาะหวายมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีอย่างน่าชื่นใจ เป็นการกลับคืนมาของระบบนิเวศที่สมบูรณ์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ปะการังที่มีอายุมากกว่า 2 ปี มีความยาวประมาณ 15-25 ซม. ซึ่งกลายเป็นปะการังต้นพันธุ์ที่โตสมบูรณ์พร้อมจะนำไปสู่การขยายพันธุ์ด้วยการใช้ท่อพีวีซีต่อไป

กิจกรรมรักษ์ปะการังของเกาะหวาย

  1. กิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ
  2. การศึกษาการเจริญเติบโตและการพัฒนาของปะการังเขากวางในแปลงขยายพันธุ์ด้วยท่อพีวีซี
  3. การอบรมค่ายเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  4. การอบรมวีธีการดำน้ำเพื่อชมปะการังที่ถูกวิธีแก่นักท่องเที่ยว