ประวัติความเป็นมา
เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) มีความตั้งใจที่จะนำเสนอโครงการที่มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า
ทางบริษัทวีนิไทย จำกัด (มหาชน) ขอน้อมถวายโครงการ “วีนิไทย ร่วมใจปลูกปะการัง ๘๐,๐๐๐ กิ่ง ที่เริ่มต้นเพื่อล้นเกล้า” เพื่อเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรแนวปะการังที่เกิดวิกฤตการณ์สูญเสียมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของโลกที่ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของปะการัง เช่น การเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวหรือเป็นการกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การเปิดหน้าดินที่มีผลทำให้มีตะกอนไปทับถมแนวปะการัง การทำประมงที่ผิดวิธี ตลอดจนขาดความระมัดระวัง และจิตสำนึกต่อการใช้ประโยชน์จากการใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว ซึ่งมีผลต่อการสูญเสียทรัพยากรแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์สวยงามติดอันดับโลก และส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงของชาติ
จากความสำเร็จของโครงการขยายพันธ์ปะการังด้วยท่อพีวีซี ที่บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมดำเนินการกับมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ ในความอุปถัมภ์ของ บมจ. วีนิไทย ตั้งแต่ปี 2546-2550 เป็นจำนวน 10,000 ต้น ณ พื้นที่ชายฝั่งทะเล ของหมู่บ้านช่องแสมสาร ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งความสำเร็จของโครงการทำให้เกิดการยอมรับและขยายแนวคิดไปยังพื้นที่ชายฝั่งที่ประสบปัญหา ส่งผลทำให้การฟื้นฟูแนวปะการังมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมมากขึ้นเป็นลำดับ
เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ได้แก่ บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ ในความอุปถัมภ์ของบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (จ.ระยอง) กองทัพเรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี องค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี องค์กรเครือข่ายชุมชนรักษ์เกาะเสม็ด พื้นที่เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกาะขามภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ จังหวัดชลบุรี เกาะหวายภายใต้มูลนิธิ ICEF จังหวัดตราด ที่จะมีส่วนร่วมในโครงการ “วีนิไทย ร่วมใจปลูกปะการัง ๘๐,๐๐๐ กิ่ง ที่เริ่มต้นเพื่อล้นเกล้า” เพื่อขยายพันธุ์ปะการังคืนสู่ท้องทะเลไทย โดยเก็บปะการังบางส่วนไว้ใช้เป็นต้นพันธุ์ในการฟื้นฟูต่อไป ซึ่งนับได้ว่าเป็นโครงการครั้งแรกของประเทศไทย และอาจจะเป็นโครงการครั้งแรกของโลกต่อไป
วัตถุประสงค์ของโครงการ
- ส่งเสริมความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนที่มีส่วนในการปลูกปะการังเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
- เพื่อปลูกจิตสำนึก ในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทรัพยากรแนวปะการัง
- เพื่อเผยแพร่ความรู้การขยายพันธ์ุปะการังด้วยท่อพีวีซี เพื่อคืนสู่ท้องทะเลไทย
- เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในการเรียนรู้ และก่อให้เกิดการขยายผลต่อไปในภายภาคหน้า
เป้าหมายของโครงการ
ขยายพันธุ์ปะการัง 80,000 กิ่ง ใร 5 พื้นที่ ได้แก่ เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง, เกาะหวาย จังหวัดตราด, เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, เกาะขาม จังหวัดชลบุรี
ลักษณะของโครงการ
เป็นโครงการระยะยาวและทำอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงองค์กรอิสระ และองค์กรต่าง ๆ โดยประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมที่จะดูแลปกปักรักษา และแสวงหาวิธีการที่จะน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแนวปะการังอย่างยั่งยืน
องค์กรพันธมิตร
- บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)
- มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ. วีนิไทย
- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- กองทัพเรือ
- มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
- ชุมชนอนุรักษ์ท้องทะเลบนเกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- ทัพเรือภาค 1 ผู้ดูแลเกาะขาม จังหวัดชลบรุ ี
- องค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
- ชุมชนอนุรักษ์ท้องทะเลบนเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
- ชุมชนอนุรักษ์ท้องทะเลบนเกาะหวาย จังหวัดตราด
แผนการดำเนินโครงการ
แผนการขยายกิ่งพันธุ์และการฟื้นฟูแนวปะการัง
ระยะที่ 1 การศึกษาและเตรียมความพร้อมในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการฯ
ระยะที่ 2 ดำเนินโครงการขยายกิ่งพันธุ์ปะการังสู่แปลงอนุบาลเพื่อการฟื้นฟูใน 5 พื้นที่
ระยะที่ 3 ดำเนินการฟื้นฟูโดยการปลูกปะการังกลับคืนสู่ท้องทะเลในพื้นที่ที่ร่วมโครงการ และพื้นที่ใกล้เคียง
ระยะที่ 4 ดำเนินการติดตามและประเมินผลโครงการในพื้นที่ต่างๆ
ระยะที่ 5 ประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรแนวปะการัง
เป้าหมายในการดำเนินการ
- เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง จำนวน 10,000 กิ่ง
- เกาะหวาย จังหวัดตราด จำนวน 10,000 กิ่ง
- เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 10,000 กิ่ง
- เกาะขาม จังหวัดชลบุรี จำนวน 10,000 กิ่ง
- พื้นที่ชายฝั่งช่องแสมสาร จังหวัดชลบุรี จำนวน 40,000 กิ่ง
งบประมาณในการดำเนินการ
ร่วมสนับสนุนงบประมาณโดยบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. แนวปะการังใต้ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ
2. เป็นแหล่งทรัพยากรในท้องถิ่น และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวให้กับประเทศ
3. เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาการฟื้นฟูแนวปะการัง
4. เยาวชนและคนทั่วไปสำนึกในการมีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน