ประวัติความเป็นมา เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) มีความตั้งใจที่จะนำเสนอโครงการที่มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทางบริษัทวีนิไทย จำกัด (มหาชน) ขอน้อมถวายโครงการ “วีนิไทย ร่วมใจปลูกปะการัง ๘๐,๐๐๐ กิ่ง ที่เริ่มต้นเพื่อล้นเกล้า” เพื่อเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรแนวปะการังที่เกิดวิกฤตการณ์สูญเสียมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของโลกที่ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของปะการัง เช่น การเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวหรือเป็นการกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การเปิดหน้าดินที่มีผลทำให้มีตะกอนไปทับถมแนวปะการัง การทำประมงที่ผิดวิธี ตลอดจนขาดความระมัดระวัง และจิตสำนึกต่อการใช้ประโยชน์จากการใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว ซึ่งมีผลต่อการสูญเสียทรัพยากรแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์สวยงามติดอันดับโลก และส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงของชาติ จากความสำเร็จของโครงการขยายพันธ์ปะการังด้วยท่อพีวีซี ที่บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมดำเนินการกับมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ ในความอุปถัมภ์ของ บมจ. วีนิไทย ตั้งแต่ปี 2546-2550 เป็นจำนวน 10,000 ต้น ณ พื้นที่ชายฝั่งทะเล ของหมู่บ้านช่องแสมสาร ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งความสำเร็จของโครงการทำให้เกิดการยอมรับและขยายแนวคิดไปยังพื้นที่ชายฝั่งที่ประสบปัญหา ส่งผลทำให้การฟื้นฟูแนวปะการังมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมมากขึ้นเป็นลำดับ เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ได้แก่ บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ ในความอุปถัมภ์ของบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (จ.ระยอง) กองทัพเรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี องค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี องค์กรเครือข่ายชุมชนรักษ์เกาะเสม็ด พื้นที่เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกาะขามภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ จังหวัดชลบุรี เกาะหวายภายใต้มูลนิธิ ICEF จังหวัดตราด ที่จะมีส่วนร่วมในโครงการ “วีนิไทย ร่วมใจปลูกปะการัง ๘๐,๐๐๐ กิ่ง ที่เริ่มต้นเพื่อล้นเกล้า” เพื่อขยายพันธุ์ปะการังคืนสู่ท้องทะเลไทย โดยเก็บปะการังบางส่วนไว้ใช้เป็นต้นพันธุ์ในการฟื้นฟูต่อไป ซึ่งนับได้ว่าเป็นโครงการครั้งแรกของประเทศไทย และอาจจะเป็นโครงการครั้งแรกของโลกต่อไป วัตถุประสงค์ของโครงการ ส่งเสริมความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนที่มีส่วนในการปลูกปะการังเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อปลูกจิตสำนึก ในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทรัพยากรแนวปะการัง เพื่อเผยแพร่ความรู้การขยายพันธ์ุปะการังด้วยท่อพีวีซี เพื่อคืนสู่ท้องทะเลไทย เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในการเรียนรู้ และก่อให้เกิดการขยายผลต่อไปในภายภาคหน้า เป้าหมายของโครงการ ขยายพันธุ์ปะการัง 80,000 กิ่ง ใร 5 พื้นที่ ได้แก่ เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง, เกาะหวาย จังหวัดตราด, เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, เกาะขาม จังหวัดชลบุรี ลักษณะของโครงการ เป็นโครงการระยะยาวและทำอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงองค์กรอิสระ และองค์กรต่าง ๆ โดยประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมที่จะดูแลปกปักรักษา และแสวงหาวิธีการที่จะน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแนวปะการังอย่างยั่งยืน องค์กรพันธมิตร บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ. วีนิไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทัพเรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ชุมชนอนุรักษ์ท้องทะเลบนเกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทัพเรือภาค 1 ผู้ดูแลเกาะขาม จังหวัดชลบรุ ี องค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ชุมชนอนุรักษ์ท้องทะเลบนเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ชุมชนอนุรักษ์ท้องทะเลบนเกาะหวาย จังหวัดตราด แผนการดำเนินโครงการ แผนการขยายกิ่งพันธุ์และการฟื้นฟูแนวปะการัง ระยะที่ 1 การศึกษาและเตรียมความพร้อมในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 2 ดำเนินโครงการขยายกิ่งพันธุ์ปะการังสู่แปลงอนุบาลเพื่อการฟื้นฟูใน 5 พื้นที่ ระยะที่ 3 ดำเนินการฟื้นฟูโดยการปลูกปะการังกลับคืนสู่ท้องทะเลในพื้นที่ที่ร่วมโครงการ และพื้นที่ใกล้เคียง ระยะที่ 4 ดำเนินการติดตามและประเมินผลโครงการในพื้นที่ต่างๆ ระยะที่ 5 ประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรแนวปะการัง เป้าหมายในการดำเนินการ เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง จำนวน 10,000 กิ่ง เกาะหวาย จังหวัดตราด จำนวน 10,000 กิ่ง เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 10,000 กิ่ง เกาะขาม จังหวัดชลบุรี จำนวน 10,000 กิ่ง พื้นที่ชายฝั่งช่องแสมสาร จังหวัดชลบุรี จำนวน 40,000 กิ่ง งบประมาณในการดำเนินการ ร่วมสนับสนุนงบประมาณโดยบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ผลที่คาดว่าจะได้รับ 1. แนวปะการังใต้ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ 2. เป็นแหล่งทรัพยากรในท้องถิ่น และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวให้กับประเทศ 3. เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาการฟื้นฟูแนวปะการัง 4. เยาวชนและคนทั่วไปสำนึกในการมีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน